สรุป Live: Fintech ไทย ไขเทรนด์ Fintech โลก

18 พฤศจิกายน 2564DIYEventsJitta WealthLiveOptimizeThematic

ไฮไลต์จาก Live

  1. เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) รวมไปถึงการเงินที่ใช้เทคโนโลยี (Techfin) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใกล้ตัวในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน ที่มีกระแสเงินหมุนเวียนตลอดเวลา ล้วนมีฟินเทคและเทคฟินอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ก่อให้เกิดสตาร์ตอัปรายใหม่ๆ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการทางการเงิน ลดต้นทุน และลดตัวกลาง และบริษัทรายใหญ่ รวมไปถึงสถาบันการเงินต่างนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาบริการทางการเงินของตัวเอง
  2. การใช้เทคโนโลยีในโลกการเงิน เริ่มจากแพลตฟอร์มง่ายๆ เช่น E-payment และ E-wallet ก่อนจะเป็นบทบาทการใช้ Big Data Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI) ช่วยต่อยอดให้บริการทางการเงินสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผ่านการกู้ยืม (Lending) การลงทุน (WealthTech) รวมไปถึงการประกัน (InsurTech)
  3. เทรนด์ของฟินเทคที่คาดว่าจะมาแรง ได้แก่ Fintertainmant (บทบาทของ Non-fungible Token – NFT ในโลกศิลปะ บันเทิง และเกม ที่มีความเฉพาะตัวและมูลค่ามหาศาล) Buy Now Pay Later (BNPL ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ผ่านแพลตฟอร์มอีเพย์เมนต์และอีวอลเล็ตต่างๆ) และ สกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) เพื่อมาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยธนาคารกลางหลายๆ ประเทศกำลังศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลนี้ รวมถึงไทยด้วย
  4. โอกาสลงทุนผ่านธุรกิจฟินเทคและเทคฟินมีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่าน Thematic ETF ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทย ทั้งในรูปแบบของกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล หรือจะลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในอุตสาหกรรมการเงินได้ แต่คุณต้องศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน

ดูวิดีโอ Live รวม 3 Fintech ไทย

สรุปเนื้อหา Live จาก 3 Fintech ไทย

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Jitta Wealth ได้เชิญ 3 CEO ฟินเทคไทย ไขทุกประเด็นสงสัยธุรกิจ ‘เทคโนโลยีการเงิน’ ไม่ว่าจะเป็นฟินเทคหรือเทคฟิน ทั้งในไทยและทั่วโลก มา Live ร่วมกันในหัวข้อ ‘Fintech ไทย ไขเทรนด์ Fintech โลก’ โดยคุยกันตั้งแต่เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการเงิน ไปจนถึงโอกาสลงทุนสำหรับคนที่สนใจธีมธุรกิจการเงินโดยเฉพาะ 

นำโดยคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO จาก Jitta Wealth และคุณนึก ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย และคุณเจ็ท เจษฎา สุขทิศ CEO จาก Finnomena รวมพลัง 3 ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทย

ขอขอบคุณผู้ร่วมชม Live สดเกือบ 400 คน หากใครที่พลาดชมสด ทีมงาน Jitta Wealth โพสต์วิดีโอย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube และ Facebook คุณสามารถเข้าชมได้ตลอดเวลา

Fintech คืออะไร

คุณนึก: คำจำกัดความสั้นๆ ของ FinTech และ Finance ผสมกับ Technology การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟินเทคอยู่คู่กับผู้คนมาอย่างยาวนาน เช่น บัตรเครดิต และบัตร ATM ก็ถือเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้คนมากกว่าที่คิด 

เรากำลังอยู่ในยุคที่พึ่งเริ่มต้นเท่านั้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมฟินเทคได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ และคาดว่าจะคงอยู่ตลอดไป และเป็นระบบการเงินที่ผู้คนใช้กันเป็นปกติ 

คุณเจ็ท: อุตสาหกรรมฟินเทคจะเปลี่ยนแปลงโลกการเงินในอนาคต ต่อไปโรงพิมพ์ธนบัตรและโรงกษาปณ์จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเยี่ยมชม อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันว่า โลกการเงินเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เราเริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) หากสังเกตจากร้านอาหารและร้านค้าหลายๆ แห่งไม่ได้รับเงินสดแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศ

ฟินเทคมีบทบาทที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่าที่คิด ซึ่งช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งคอร์รัปชันและความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ต่อไปเงินตราหรือเงินสดจะกลายเป็นสิ่งที่หายาก ในอนาคตผู้คนจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลกันหมด 

Jitta Wealth เป็น WealthTech ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Fintech ไทยเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คุณเผ่า:  ฟินเทคอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ทุกวันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตพัฒนามาโดยตลอด หลายคนคงไม่รู้ว่าสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้อินเทอร์เน็ตเติบโต คือ ฟินเทค อย่างเช่นการซื้อของผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ การดูหนังผ่านระบบสตรีมมิง หรือแม้กระทั่งการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ทุกอย่างมี Digital Payment อยู่เบื้องหลัง 

สมัยก่อนคนรุ่นเก่า อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ฟินเทค แต่สำหรับคนรุ่นใหม่กลับสนใจใช้ฟินเทคและเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจฟินเทคให้เติบโต แต่ตอนนี้ผู้คนเริ่มเข้าถึงฟินเทคได้ง่ายขึ้น ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพราะ Covid-19 เป็นอีกตัวแปรสำคัญ

ฟินเทคมีประโยชน์มากในปัจจุบัน เข้าไปแทรกซึมอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ แม้แต่การลงทุน ยกตัวอย่าง WealthTech ที่ช่วยลดค่าธรรมเนียมการลงทุน และทำให้หลายบริษัทเปิดช่องทางการลงทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น

ปัจจุบันในสหรัฐฯ ผู้คนใช้ฟินเทคกันเป็นเรื่องปกติ มีผลสำรวจออกมาว่ามากกว่า 88% ในปี 2564 ซึ่งเติบโตมากจากปี 2563 แทบไม่ใช้เงินสดกันแล้ว โดยจะใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลแทน ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ และสถาบันการเงิน เริ่มเห็นศักยภาพและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และเริ่มเคลื่อนไหวพัฒนาฟินเทคและเทคฟินกันแล้ว ด้วยเหตุนั้นเองยิ่งทำให้เทรนด์ธุรกิจฟินเทคเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต

เทรนด์ Fintech ในต่างประเทศ

คุณนึก: เทรนด์ Zero Commission Trading กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชัน Robinhood ของสหรัฐฯ ที่เติบโตขึ้นมาก เปิดโอกาสการลงทุนแบบ Zero Commission Trading ทำให้นักลงทุนรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มคนมิลเลนเนียลเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น เพราะไม่มีค่าธรรมเนียม เงินลงทุนขั้นต่ำน้อย เส้นแบ่งธุรกิจกับรายใหญ่จะบางลง

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ คริปโทเคอร์เรนซี หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้คนสนใจลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์เหล่านี้ และบทบาทของ Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI) จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่การตลาดไปอย่างสิ้นเชิง 

คุณเผ่า: เทรนด์ Zero Commission Trading ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น แต่นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนจะลงทุน อย่างที่ Warren Buffett บอกว่า ‘อย่าลงทุนในธุรกิจที่คุณไม่เข้าใจ’ ในอนาคตเป็นไปได้ว่า การลงทุนจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นลงทุนเองมากขึ้น ผู้คนเลือกลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

คุณเจ็ท: เทรนด์ที่กำลังมาแรงและส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินดั้งเดิม คือ Neobank เป็นธนาคารรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีสาขา และให้บริการผ่านช่องทางแอปพลิเคชันเท่านั้น ตัวอย่างคือ N26 เป็น Neobank สัญชาติเยอรมนี ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านรายในปี 2564 ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินแบบครบวงจรผ่านแอปพลิเคชัน N26 โดยลดกำแพงค่าธรรมเนียมธุรกรรมการเงินได้ แม้กระทั่งใช้แอปพลิเคชันในต่างประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไม่จำเป็นต้องแลกเงินอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมี Revolut สัญชาติอังกฤษ เป็น Neobank เหมือนกัน ใช้เวลาเพียงแค่ 5 ปี จากฐานลูกค้า 3 ล้านราย จนขยายไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ตอนนี้เป็น 20 ล้านรายทั่วโลก นี่คือการปฏิวัติวงการสถาบันการเงิน เพราะธุรกิจ Neobank จะเข้ามาดิสรัปครั้งใหญ่ แข่งขันกันด้วยต้นทุนการเงินที่ถูกกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายกว่า และไม่ต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำตามเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ เมื่อก่อนธนาคารจะไปเปิดสาขาต่างประเทศไม่ง่าย ต้องคุยกับธนาคารกลางประเทศนั้นๆ เพื่อขอใบอนุญาต แต่กำแพงเหล่านี้ลดลงไปมาก ตามบทบาทของฟินเทค 

ปัจจุบันหลายๆ ธนาคารในไทยเริ่มพัฒนาระบบ Neobank แล้ว เชื่อว่า ในอนาคตเทรนด์นี้จะกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนใช้กันเป็นปกติ 

อีกเทรนด์ คือ Fintertainment กำลังมาแรง เป็นการผสมผสานระหว่าง Finance และ Entertainment ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวกำลังจะเจาะผู้เล่นเกม เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้คนยอมใช้จ่ายเงินมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อซื้อสินค้าในเกมนั้น และกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เทรนด์ Fintertainment ยกตัวอย่างเช่น เกมแข่งรถยนต์ เมื่อผู้เล่นได้แต่งรถในเกมจนออกมาสวยงาม ผู้เล่นสามารถนำรถไปขายในระบบ NFT (Non-fungible Token) เพื่อแลกเป็นคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ ได้ ยิ่งมีกระแส Metaverse ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ทำให้เทรนด์ Fintertainment มาแรงมากขึ้น

คุณเผ่า: เทรนด์ Metaverse คาดว่าจะมีอนาคต ผู้คนอาจจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย เพื่อซื้อสินค้าในโลกเสมือนจริง การสร้างระบบเศรษฐกิจในโลกเสมือนจริง ยกตัวอย่างเช่น ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมแต่งตัวตนใน Metaverse อาจจะราคาถูกกว่าไปซื้อกระเป๋าจริงมาก และ Metavese ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีอาชีพใหม่ๆ และเพิ่มความเป็นไปได้ในโลกเสมือนจริง ปัจจุบันเริ่มมีผู้คนใช้คริปโทเคอร์เรนซีซื้อที่ดินใน Metaverse กันแล้ว 

เทรนด์ Fintech ในไทย

คุณนึก: Super App ในไทยกำลังมาแรงอยู่ตอนนี้ โดยจะเริ่มจากการพัฒนาระบบต่างๆ ในแอปพลิเคชัน เช่น การชำระเงินจะสามารถต่อยอดจาก Big Data ที่มีอยู่ไปพัฒนาระบบการเงินส่วนอื่นๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ กู้ยืม การประกันชีวิต และการลงทุน 

สิ่งที่น่าจับตามองและเป็นอุปรรคต่อฟินเทคและเทคฟินในไทย คือ ระบบธนาคารที่แข็งแกร่งมาก อาจจะเป็นเพราะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้สถาบันการเงินและสตาร์ตอัปรายใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารดั้งเดิมของประเทศเข้ามาดิสรัปได้ยาก แต่จะเป็นการร่วมมือกันระหว่างธนาคารแบบดั้งเดิม กับธุรกิจอื่นๆ หรือการเข้าซื้อกิจการของสถาบันการเงินรายใหญ่ในกิจการสตาร์ตอัป กลายเป็น ตลาด Coopetition แทน

นอกจากนี้กระบวนการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงพระราชบัญญัติฟินเทคที่สมาคมพยายามผลักดันเข้าไป จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ทั้งๆ ที่สมาคมมี Action Plan ที่จะสร้างเครือข่าวให้ทุกคนพัฒนาฟินเทค ร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เพื่อสนับสนุนด้านกฎเกณฑ์รวมทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากร 

สมาคมมีแผนจะสร้าง API (Application Programming Interface) Portal เป็นศูนย์รวมการเชื่อมต่อระบบที่ทุกสตาร์ตอัปฟินเทคใช้ร่วมกัน และพาไปเจอผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็น Angel Investor รวมไปถึงกลุ่มบ่มเพาะและผลักดันสตาร์ตอัปอย่าง Incubator และ Accelerator

คุณเจ็ท: ผู้เล่นรายใหม่หรือบริษัทที่ทำธุรกิจการเงินใหม่ๆ จะเข้ามาแข่งขันกันในฟินเทคไทยเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่จุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือ กฎหมายไทย เติบโตไม่ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยไม่ได้ปิดกั้นโอกาสของผู้ใช้งานไทย แต่ปิดกั้นการทำธุรกิจของรายใหม่ๆ สัญชาติไทย ยังขาด Level Playing Field คือสถานการณ์การแข่งขันที่ทุกคนเท่าเทียมและเสมอภาค เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ต่างชาติเข้ามาขายคนไทยได้ แต่คนไทยพัฒนามาขายคนไทยด้วยกันเอง กฎหมายไม่เปิดช่องให้ พอปลดล็อกให้แล้ว ก็ไม่เหลือฐานลูกค้าให้เริ่มต้นธุรกิจแล้ว 

คุณเผ่า: อุตสาหกรรมฟินเทคไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะมาก แต่ติดกฎข้อบังคับอีกมากมายเช่นกัน ทำให้เริ่มต้นทำธุรกิจได้ค่อนข้างยาก รวมไปถึงแข่งขันกับธนาคารดั้งเดิมด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังมีช่องว่างที่ฟินเทคจะเติบโตได้อยู่ หวังว่าในอนาคตไทยจะปรับปรุงกฎหมายให้ทันกับเทคโนโลยีมากขึ้น และทำให้ฟินเทคในประเทศเติบโตเร็วมากกว่าในปัจจุบันนี้ เพื่อจะได้มีเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ในอนาคตมาช่วยให้ผู้ใช้งานไทยมีทางเลือกมากขึ้น และพัฒนาระบบการเงินในประเทศ ให้ขึ้นไปเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ได้

เทรนด์ฟินเทคไหนจะมาแรงในอนาคต 

คุณเผ่า: ฟินเทคแทบทุกประเภทมาแรงเกือบหมด เพราะผู้คนจะเริ่มทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ อย่างเทรนด์ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ (Buy Now Pay Later) กำลังมาแรง เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันมีหลายแอปพลิเคชันที่เพิ่มระบบ BNPL เข้าไปแล้ว โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกแผนการชำระเงินได้ตามความต้องการของตัวเอง

คุณนึก: เทคโนโลยี Blockchain กำลังมาแรง และที่จะมาต่อเนื่องกันคือ สกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) เหมือนกับ Stablecoin ซึ่งจะเปลี่ยนโลกการชำระเงิน แทนที่จะพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มาออกสกุลเงินเป็นของตัวเอง อย่างธนาคารกลางจีนกำลังพัฒนาดิจิทัลหยวนให้ชำระเงินได้ทั่วโลก และแบงก์ชาติไทยก็กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง 

แต่สิ่งที่คาดหวังลึกๆ คือ ไทยจะมี ‘แพลตฟอร์มฟินเทคที่เกี่ยวกับวางแผนการเงินจนเกษียณอายุ’ (Retirement) เข้ามาช่วยกำหนดเป้าหมายและวางแผนเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไทยเข้าสังคมคนสูงอายุเร็วมาก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่คุณภาพชีวิตคนอายุมากกว่า 60 ปีและฐานะการเงินยังไม่ดีเท่าไรนัก รวมทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในประเทศ ถ้ามีการวางแผนดีๆ จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้

คำแนะนำ หากจะลงทุนใน Fintech

คุณเจ็ท: ปัจจุบันนักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในธุรกิจฟินเทค รวมไปถึงเทคฟินสะดวกมากขึ้น โดยการซื้อ ETF ที่ลงทุนในธีมฟินเทค โดยมี ETF หลายประเภทที่เกี่ยวกับฟินเทคให้เลือกลงทุนทั้งในรูปแบบ Active Fund และ Passive Fund เชื่อว่าฟินเทคมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้นในอนาคต หรือจะเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ บริษัทฟินเทคในต่างประเทศก็สามารถทำได้ง่ายแล้ว ดังนั้นฟินเทคยังคงเป็นเทรนด์ที่สามารถลงทุนได้อีกยาวๆ 

คุณเผ่า: ปัจจุบันนี้เทรนด์ฟินเทคเติบโตมากขึ้นแล้ว แต่กว่า 80% ยังเป็นรายได้ที่มาจากกลุ่มระบบการชำระเงินออนไลน์จากกระแสอีคอมเมิร์ซ แต่แขนงอื่นของฟินเทคยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะมาก อย่าง WealthTech InsurTech และ BNPL เทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนช่วยพัฒนาระบบฟินเทคให้สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ได้ 

การลงทุนในหุ้นรายตัวในกลุ่มฟินเทคอาจจะต้องศึกษาดีๆ เพราะเทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ควรหาข้อมูลและศึกษาอุตสาหกรรมฟินเทคก่อนจะลงทุน อีกวิธี คือ การกระจายความเสี่ยงลงทุนใน ETF หรือกองทุนรวม 

คุณนึก: ปัจจุบันสามารถลงทุนในหุ้นกลุ่มฟินเทค รวมไปถึงเทคฟินได้หลายช่องทาง เช่น หุ้นรายตัว ETF หรือ Feeder Fund (ผ่านกองทุนรวม) แต่ก่อนที่จะลงทุน ควรศึกษาถึงไส้ในของหุ้น ETF หรือกองทุนนั่นก่อนว่าตรงกับเป้าหมายที่ต้องการจะลงทุนหรือไม่ เพราะ ETF หรือกองทุนบางกองเลือกลงในหุ้นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ แล้วบอกว่าลงทุนในฟินเทค แต่อาจจะเป็นเทคฟินขององค์กร ทำให้ไม่ตรงกับความต้องการของคุณหากต้องการจะลงทุนในหุ้นฟินเทคหรือสตาร์ตอัปฟินเทคที่แข็งแกร่ง

ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีผลต่อการลงทุนในต่างประเทศไหม

คุณเจ็ท: ความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากราคาพลังงานตัวอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติที่ลงมาเยอะและทรงตัว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อรายเดือนจะไม่เร่งตัวเหมือนตอนนี้ แต่ถ้ายังพุ่ง 6-7% ไปอีกถึงปีหน้า สถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง 


หากคุณมั่นใจในโอกาสเติบโตของธีมฟินเทค คุณสามารถเลือกจัดพอร์ตได้เองตามใจชอบผ่าน Thematic DIY โดยลงทุนร่วมกับธีมเมกะเทรนด์อื่นๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ คลาวด์ หุ่นยนต์และ AI และเกมและสปอร์ต แล้วให้เงินทำงานผ่านระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ

แต่ถ้าคุณไม่อยากจัดพอร์ตลงทุนธีมเมกะเทรนด์เอง ให้ AI ของ Thematic Optimize เป็นทางเลือกเพื่อช่วยให้คุณลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเลือกธีมเอง แต่คุณจะไม่ได้ลงทุนในธีมฟินเทคตลอดเวลา บางไตรมาส AI จะเลือกธีมฟินเทคมาให้ เมื่อไตรมาสนั้นธีมฟินเทคน่าลงทุนที่สุด

สอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ทาง Line ID: @JittaWealth


อ่านบทความ Fintech ที่เกี่ยวข้อง

วิธีลงทุน ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ แบบไม่เสี่ยงมาก

10 บริษัทชั้นนำจาก Thematic ETF ธีมฟินเทค

‘ฟินเทค’ เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลกการเงิน


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด