‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ คืออะไร ส่งผลต่อมูลค่าพอร์ตอย่างไร

15 มีนาคม 2565Global ETFJitta RankingJitta WealthThematic

ไฮไลต์ ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’

  • หุ้นแตกพาร์ (Stock Split) คือ การปรับแผนโครงสร้างการเงินของบริษัท โดยการเพิ่มจำนวนหุ้น แต่จะไม่ทำให้มาร์เก็ตแคปและสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไป งบการเงินยังเหมือนเดิม แต่เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายให้หุ้นบริษัทมากขึ้น 
  • หุ้นปันผล (Stock Dividend) คือ การจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเมื่อบริษัทมีกำไร ด้วยหุ้น  และเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นบริษัท โดยมาร์เก็ตแคปไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลง สาเหตุที่บริษัทเลือกจ่ายหุ้นปันผล จะทำให้มูลค่าธุรกิจคงเหลือสูงกว่าการจ่ายปันผลด้วยเงินสด และประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่าย 
  • ทั้ง ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ คือ Corporate Action หมายถึง การปรับโครงสร้างเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ของหุ้นและ ETF ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าและราคาหุ้นโดยตรง ยังมี อีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มทุน (Capital Increase) การลดทุน (Capital Reduction) การรวมหุ้น (Reverse Stock Split) และการซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase)

เมื่อคุณเปิดดูพอร์ตของคุณ เคยสงสัยหรือไม่ ทำไมจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น เกิดอะไรกับหุ้นที่คุณลงทุนอยู่ ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มเลย

มันคือ Corporate Action กรณีที่คุณมีหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่มขึ้น เกิดจาก ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ นั่นเอง 

จริงๆ แล้ว ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ รวมไปถึง Corporate Action รูปแบบอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่แต่ละบริษัทที่ดำเนินการปรับโครงสร้างการเงิน ด้วยเป้าหมายแตกต่างกัน เพื่อให้ทำธุรกิจได้สะดวกคล่องตัวขึ้น

และไม่ได้เกิดเฉพาะหุ้นบริษัทเพียงอย่างเดียว ETF (Exchange Traded Fund) ที่อยู่ในตลาดหุ้น ก็สามารถใช้เงื่อนไข Corporate Action ได้เช่นกัน

ดังนั้น Corporate Action จัดว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและสิทธิของผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน 

คำจำกัดความของ Corporate Action คือ เหตุการณ์ที่หุ้นและ ETF ดำเนินการในอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ของหุ้นและ ETF นั้นๆ  ซึ่งมีผลกระทบต่อมูลค่าและราคาหุ้นโดยตรง

บทความนี้ ทีมงาน Jitta Wealth จะฉายภาพความหมายของ ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ ซึ่งเป็น Corporate Action ที่คุณพบเจออยู่บ่อยๆ พร้อมวิธีการดูแลพอร์ตลงทุนที่ Jitta Wealth จะช่วยเหลือคุณ เมื่อหุ้นและ ETF ที่คุณลงทุนอยู่ เจอเหตุการณ์เหล่านี้

หุ้นแตกพาร์คืออะไร

ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจว่า หุ้นแตกพาร์คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนว่า ราคาพาร์ (Par Value) คืออะไร โดยเราขอยกตัวอย่างกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ของไทย 

เมื่อมีการจัดตั้งบริษัท บริษัทนั้นๆ จะได้รับเอกสารที่เรียกว่า ‘หนังสือบริคณห์สนธิ’ จากกระทรวงพาณิชย์ โดยในเอกสารนั้นจะแสดงทุนจดทะเบียนของบริษัท ราคาพาร์ คือ มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น เป็นราคาที่ทำให้คุณรู้ว่า หุ้นของบริษัทนั้นมีมูลค่าหุ้นละเท่าไร

ส่วนหุ้นแตกพาร์ (Stock Split) คือ บริษัทนั้นๆ เพิ่มจำนวนหุ้นด้วยการแตกหุ้นออกเป็นหลายๆ ส่วน ตามที่บริษัทมีแผนในการปรับโครงสร้างการเงิน ซึ่งทำให้ราคาพาร์ของหุ้นลดลงไปตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน

การแตกพาร์จะไม่ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัท หรือสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไป

เหมือนกับว่า หุ้นบริษัทเป็นเค้ก 1 ก้อน จากเดิมคุณแบ่งสัดส่วนออกมาเป็น 4 ชิ้น แต่คุณต้องการเพิ่มจำนวนชิ้นให้ได้มากขึ้น เลยตัดเค้กให้ชิ้นเล็กลงเป็น 8 ชิ้น 

เป็นแค่การเพิ่มจำนวนชิ้น แต่ไม่ได้เพิ่มขนาดของเค้ก เช่นเดียวกับหุ้นและ ETF เมื่อมีประกาศออกมาว่า จะดำเนินการแตกพาร์นั่นเอง 

การแตกพาร์ ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานบริษัทหรือธุรกิจที่เปลี่ยนไป งบการเงินยังเหมือนเดิม แต่จะทำให้หุ้นบริษัทมีสภาพคล่องในตลาดหุ้นมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากราคาหุ้นที่สูงเกินไป ทำให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนได้ยาก ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งการแตกพาร์จะทำให้ราคาพาร์ต่อหุ้นลดลง นักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น 

ตัวอย่างการแตกพาร์ เช่น หุ้น Jitta จำนวน 1 หุ้นมีราคาพาร์ที่ 100 บาท แตกพาร์เป็น 2 หุ้น หุ้นละ 50 บาท นักลงทุนจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะราคาถูกลงนั้นเอง โดยแต่ละบริษัทสามารถทำการแตกพาร์ได้หลายๆ ครั้งในอนาคต ตามความเหมาะสมของโครงสร้างเงินทุนและเป้าหมายนั่นเอง  

ที่สำคัญ คือ การแตกพาร์ไม่ส่งผลต่อมาร์เก็ตแคปของหุ้นและ ETF สัดส่วนของผู้ถือหุ้นยังเหมือนเดิม เพียงแต่จำนวนหุ้นในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่แตกพาร์ หากคุณลงทุนอยู่แล้ว คุณไม่ควรใช้เงื่อนไขการแตกพาร์ เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้นๆ 

แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เมื่อหุ้นและ ETF ประกาศแตกพาร์ พร้อมกำหนดวันที่จำนวนหุ้นจะเปลี่ยนแปลงออกมาแล้ว ย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นๆ ได้ จนกว่าจะถึงวันที่การทำรายการแตกพาร์ของหุ้นและ ETF จะเสร็จสิ้นนั่นเอง

หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล

วิธีการของ Jitta Wealth กรณีหุ้นแตกพาร์ 

หากคุณมีพอร์ตลงทุนกับ Jitta Wealth ไม่ว่าหุ้นและ ETF เมื่อมีการประกาศแตกพาร์ จำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้น ณ วันที่มีการแตกพาร์ พร้อมกับราคาหุ้นที่ลดลงตามสัดส่วนการแตกพาร์ ตามที่แต่ละบริษัทประกาศเอาไว้ เพราะแต่ละบริษัทจะมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม จำนวนหุ้นและมูลค่าพอร์ตที่คุณลงทุนกับ Jitta Wealth จะไม่แสดงผลในแอปพลิเคชันในวันที่มีผลแตกพาร์ เนื่องจากสินทรัพย์ในพอร์ตของคุณถูกฝากไว้กับผู้ดูแลทรัพย์สิน (Custodian) ซึ่งก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ดังนั้น Jitta Wealth จะต้องรอข้อมูลของจำนวนหุ้นที่จะเข้ามาจากทาง Custodian ก่อน และเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว จะนำหุ้นแตกพาร์เข้าพอร์ต ใช้เวลาดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับการยืนยันจาก Custodian

ส่วนการปรับพอร์ต จะเกิดขึ้นหลังจากได้เพิ่มหุ้นแตกพาร์เข้าพอร์ตของคุณเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI ของ Jitta Wealth และระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ โดยจะดูสัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ตของคุณ และปรับพอร์ตอย่างเหมาะสม ตามหลักการลงทุนที่ Jitta Wealth ออกแบบไว้

หุ้นปันผลคืออะไร

เมื่อบริษัทมีกำไรจากการทำธุรกิจ บริษัทจะตอบแทนผู้ถือหุ้นในรูปแบบการจ่ายปันผล ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ

  • จ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด (Cash Dividend)
  • จ่ายปันผลในรูปแบบหุ้น (Stock Dividend)

โดยส่วนใหญ่ หุ้นและ ETF จะจ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด ซึ่งเป็นรูปแบบที่คุณคุ้นเคยดี แต่ก็มีบางบริษัทที่จะจ่ายเงินปันผลในรูปแบบหุ้น ควบคู่ไปกับการจ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด สำหรับการจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นจะถูกเรียกว่า หุ้นปันผล

อย่างไรก็ตาม การจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในบริษัทนั้นๆ โดยที่มูลค่ารวมของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลง เรียกว่า Dilution Effect ซึ่งสามารถยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่า 

หากคุณมีหุ้น Jitta จำนวน 100 หุ้น โดยมีราคาตลาด 20 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าในพอร์ต 2,000 บาท ต่อมา Jitta ประกาศจ่ายปันผลหุ้นอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ (1:1) จะทำให้คุณจะมีหุ้น Jitta ในพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 200 หุ้น แต่ราคาหุ้นจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 10 บาท ส่วนมูลค่ายังคงเท่าเดิมคือ 2,000 บาท 

การตัดสินใจของแต่ละบริษัท ว่าจะจ่ายปันผลเป็นเงินสดหรือหุ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองหลายๆ ด้าน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น การประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัท กรณีหุ้น Jitta จ่ายปันผลเป็นหุ้น อัตราส่วน 1:1 แต่ก็ทำให่้หุ้น Jitta มีปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว

สำหรับเหตุผลที่บริษัทเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้น จะทำให้มูลค่าธุรกิจคงเหลือสูงกว่าการจ่ายปันผลเป็นเงินสด และเป็นการประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่าย เมื่อเทียบกับการจ่ายปันผลทั้งหมดเป็นเงินสด ทำให้บริษัทมีเงินสดคงเหลือสูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินลงทุนหมุนเวียนในกิจการ (Working Capital) หรือลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอื่นๆ 

ข้อดีของหุ้นปันผล คือ ​คุณสามารถนำหุ้นที่ได้มาไปขายในตลาดหุ้นได้ แต่ถ้าคุณมองเห็นโอกาสเติบโตในระยะยาวของกิจการ และถือหุ้นต่อไป อาจจะได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่ากว่า จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หากบริษัทนั้นสามารถสร้างการเติบโตได้

แต่ไม่ว่า คุณจะได้ปันผลในรูปแบบเงินสดหรือหุ้น คุณจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% หมือนกัน (กรณีลงทุนหุ้นไทย) เพียงแต่บริษัทที่จ่ายปันผลจะมีทั้งในรูปแบบเงินสดและหุ้น และใช้ส่วนของเงินสดรองรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของหุ้นปันผลด้วย 

แน่นอนว่า หุ้นปันผลจะกระทบกับพื้นฐานของหุ้นในช่วงเวลาหนึ่งที่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะจะกระทบกับจำนวนหุ้นสามัญ (Common Share) และกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share) หลังจาก Dilution Effect เช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราส่วนทางการเงินของบริษัทในปีถัดไป

หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล

วิธีการของ Jitta Wealth กรณีหุ้นปันผล 

หากคุณมีพอร์ตลงทุนกับ Jitta Wealth ไม่ว่าหุ้นและ ETF เมื่อมีการประกาศปันผลหุ้น จะส่งผลให้มูลค่าพอร์ตลงทุนในแอปพลิเคชันติดลบในช่วงบริษัททำรายการจ่ายหุ้นปันผล เพราะหุ้นปันผลยังไม่เข้าพอร์ตลงทุนของคุณและต้องรอข้อมูลยืนยันจาก Custodian เช่นเดียวกัน

เมื่อหุ้นปันผลเข้ามาในพอร์ตแล้ว มูลค่าของพอร์ตจะกลับมาเป็นปกติ ส่วนระยะเวลาในการจ่ายปันผลหุ้น จะช้าหรือเร็วจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทนั้นๆ เมื่อ Jitta Wealth ได้รับข้อมูลหุ้นปันผลจาก Custodian แล้ว จะนำเข้าพอร์ตตามกระบวนการและแสดงผลในแอปพลิเคชัน  

นอกจากนี้ ทีมผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่สอดส่องหุ้นที่มีราคาขึ้นลงผิดปกติ แน่นอนว่า กรณีหุ้นปันผลในช่วงเวลาที่เกิดรายการ ทีมงานจะพบก่อนอยู่แล้ว และจะไม่ส่งคำสั่งซื้อในช่วงเวลานั้น จนกว่าการจ่ายหุ้นปันผลเสร็จสิ้น และใ้ห้ AI ของ Jitta Wealth และระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติทำหน้าที่ต่อหลังจากนั้น คุณจึงมั่นใจได้ว่า พอร์ตลงทุนของคุณ ยังอยู่ในหลักการที่ถูกต้อง 

ในกรณีที่คุณมีพอร์ต Jitta Ranking ไทย คุณสามารถดูข้อมูลการจ่ายปันผลได้จาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีโปรแกรมในการคำนวนจำนวนหุ้นปันผลและเงินปันผล คุณสามารถระบุชื่อและจำนวนหุ้นที่คุณถือครองทั้งหมดได้ผ่านเว็บไซต์ https://portal.set.or.th/tsd/sharedividend.html 

Corporate Action อื่นๆ ที่ควรรู้

ประกาศ Corporate Action มีมากมายหลายๆ รูปแบบในการปรับโครงสร้างการเงินของแต่ละบริษัท ไม่ได้มีแค่ ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ เท่านั้น

ทีมงาน Jitta Wealth ได้รวบรวม Corporate Action ที่คุณควรรู้ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นกับหุ้นและ ETF ที่คุณลงทุนอยู่ได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น

Corporate Action
  • การเพิ่มทุน (Capital Increase) คือ การที่บริษัทออกหุ้นใหม่หรือที่เรียกว่า ‘หุ้นเพิ่มทุน’ เพิ่มเติมจากหุ้นเดิมที่มีอยู่ โดยบริษัทจะนำหุ้นเพิ่มทุนไปเสนอขายให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะเหมือนกับหุ้นเดิมของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหุ้น การเพิ่มทุนมี 3 รูปแบบประกอบไปด้วย
    • Right Offering (RO) คือ การออกและเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม
    • Private Placement (PP) คือ การออกและเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด
    • Public Offering (PO) คือ การออกและเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป
  • การลดทุน (Capital Reduction) คือ การที่บริษัทลดทุนจดทะเบียนของบริษัทลง เกิดจากบริษัทมีเงินทุนในการดำเนินงานมากเกินไป โดยที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงต้องปรับโครงสร้างเงินทุน โดยการลดจำนวนทุนจดทะเบียนลงเพื่อคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้น โดยได้รับเงินสดคืนทันทีคล้ายกับได้รับเงินปันผล
  • การรวมหุ้น (Reverse Stock Split) คือ การที่บริษัทลดจำนวนหุ้นลง ทำให้ราคาพาร์เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน การรวมหุ้นจะตรงข้ามกับการแตกพาร์หุ้น และจะไม่ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัท หรือสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จำนวนหุ้นในพอร์ตลดลงนั่นเอง
  • การซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) คือ การที่บริษัทซื้อหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเรียกว่า หุ้นซื้อคืน (Treasury Stock) โดยส่วนใหญ่บริษัทจะซื้อหุ้นคืน เพื่อปรับโครงสร้างการเงิน กรณีที่มีเงินสดหรือกำไรสะสมเหลือเป็นจำนวนมาก โดยสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
    • ซื้อหุ้นคืนผ่านตลาดหุ้น
    • ทำคำเสนอซื้อเป็นการทั่วไป (General Offer – GO)

นี่คือ Corporate Action ที่ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมมาให้คุณ เพราะไม่ว่าจะเป็น ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ หรือเหตุการณ์อื่นๆ สามารถเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ว่าคุณจะลงทุนหุ้น หรือ ETF 

มูลค่าสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่นั้น มีอยู่ 2 ตัวแปร คือ ราคาตลาดและจำนวนหุ้น ซึ่งเมื่อตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมส่งผลต่อมูลค่าพอร์ตลงทุนของคุณ ดังนั้น Corporate Action เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรทำความเข้าใจ 

ในโลกของการลงทุน ยังมีความรู้อีกมากมายที่คุณในฐานะนักลงทุนควรติดตามและเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีและวิธีคิด (Mindset) ก็ตาม ขอเพียงคุณมีความรู้ความเข้าใจที่มากพอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณจะมีสติรับมือ มองว่า การลงทุนเป็นเรื่องของเหตุและผล ไม่ใช่ความวิตกกังวล

เพราะการลงทุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่คุณมีวินัย เปิดใจเรียนรู้อยู่เสมอ 

พอร์ตของคุณกับ Jitta Wealth เมื่อหุ้นและ ETF ในพอร์ตเจอกับ Corporate Action ในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่า มูลค่าพอร์ตจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เพราะการปรับโครงสร้างการเงิน เหล่านี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวเท่านั้น 

ที่สำคัญ คือ ทีมงาน Jitta Wealth ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุน คนดูแลระบบการส่งคำสั่งซื้อขาย และเทคโนโลยีต่างๆ ของเรา จะทำหน้าที่บริหารจัดการพอร์ตลงทุนให้คุณเอง 

หากคุณมั่นใจในการดูแลของทีมงาน Jitta Wealth และสนใจแผนการลงทุนระยะยาวไปกับหุ้นคุณค่าที่พื้นฐานกิจการแข็งแกร่ง โอกาสลงทุนใน ETF ชั้นดีทั่วโลก และสร้างพอร์ตด้วยธีมเมกะเทรนด์อนาคตไกล อ่านข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามเจ้าหน้าแนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth 


อ้างอิง ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’

  1. จะเกิดอะไรขึ้น…เมื่อหุ้นที่เราถืออยู่ประกาศปันผล/แตกพาร์ https://www.nomuradirect.com/e_learning/knowledge_inner/knowledge_details.aspx?id=12&cat_id=3
  2. Investor’s Practice Guide ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจ Corporate Actions https://www.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/AttachFile_1462788295868.pdf
  3. แตกพาร์ มีผลต่อหุ้นหรือไม่ นักลงทุนควรรู้ https://www.mrlikestock.com/2021/แตกพาร์-มีผลต่อหุ้นหรือ/
  4. การจ่ายหุ้นปันผล ประโยชน์น้อย แต่บางบริษัทก็ยังทำ https://www.longtunman.com/34002
  5. เงินปันผล หรือหุ้นปันผล อะไรดีกว่ากัน https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/dividen-fund-vs-dividen-stock
  6. บริษัทเพิ่มทุน… นักลงทุนต้องทำอย่างไร https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=decode_strategy_invest_29&innerMenuId=19 
  7. Dilution Effect คืออะไร ทำไมถึงส่งผลกับราคาหุ้น https://investich.com/blog/what-is-dilution-effect

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก Thematic ETF ‘หุ้นเฮลท์แคร์จีน’ กับ KURE

8 ‘บริษัทเกม’ ใน HERO ETF ที่น่าสนใจ ดันธีมเกมและอีสปอร์ตโตยาว

9 ‘Mindset การลงทุน’ ที่ต้องรู้…ก่อนล้างพอร์ต


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด