หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » เงินแข็ง กับ เงินอ่อน คืออะไร? ต่างกันอย่างไร

เงินแข็ง กับ เงินอ่อน คืออะไร? ต่างกันอย่างไร

บทความโดย Kris Piroj
เงินแข็ง เงินอ่อน คือ อัตราแลกเปลี่ยน เงินแข็งค่า เงินอ่อนค่า

เงินแข็ง เงินอ่อน คืออะไร?

เงินแข็ง กับ เงินอ่อน คือ การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าของเงินระหว่างเงิน 2 สกุลเงินที่นำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในการแลกเงินจากสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง เช่น การแลกเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เป็นเงินบาทไทย (THB) โดยคำว่าเงินแข็ง เงินอ่อน คือ คำที่ใช้เรียกการที่เงินสกุลหนึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น/ลดลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง

สำหรับใครที่ต้องการทำความเข้าใจกับเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่าแบบรวบรัด การที่ต้องใช้เงินบาทในการแลกเป็น 1 ดอลลาร์เพิ่มขึ้น (จากช่วงเวลาก่อนหน้า) เรียกว่า เงินบาทอ่อน และในกรณีตรงกันข้ามถ้าจำนวนเงินบาทที่ต้องใช้แลกเป็น 1 ดอลลาร์ลดลงจะเรียกว่า เงินบาทแข็ง

ตัวอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเงินบาทไทย คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 35 บาท เมื่อเวลาผ่านไปอัตราแลกเปลี่ยนอาจเปลี่ยนไป สมมติว่าเปลี่ยนไปเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 31 บาท

  • มุมมองด้านเงินบาท คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ (เงินบาทมีค่ามากขึ้น)
  • มุมมองด้านเงินดอลลาร์ คือ เงินดอลลาร์อ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงินบาท (ดอลลาร์มีค่าน้อยลง)

เงินแข็ง และ เงินอ่อน คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอในทิศทางตรงข้ามกัน เพราะอย่างที่บอกว่า เงินอ่อนค่า และ เงินแข็งค่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการเทียบกันของ 2 ค่าเงิน นั่นหมายความว่าถ้าเงินสกุลหนึ่งแข็งค่า เงินอีกสกุลหนึ่งที่นำมาเปรียบเทียบจะอ่อนค่า

เงินแข็งค่า เงินอ่อนค่า ต่างกันอย่างไร?

เงินแข็ง เงินอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่มีมูลค่าของเงินสกุลหนึ่งที่ต้องใช้แลกเป็นเงินอีกสกุลหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสามารถเข้าใจเงินแข็งเงินอ่อนคือให้คิดว่าเงินแต่ละสกุลเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ซึ่งการที่เงินอ่อนค่าและเงินแข็งค่าคือการเปลี่ยนไปของราคาสินค้านั่นเอง

  • เงินแข็งค่า คือการที่เงินสกุลหนึ่งมีราคาแพงขึ้น เมื่อใช้เงินอีกสกุลหนึ่งซื้อ (แลกเงิน)
  • เงินอ่อนค่า คือเงินสกลุหนึ่งราคาถูกลง เมื่อใช้เงินอีกสกุลซื้อ (แลกเงิน)

เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ เราจะยกตัวอย่างแยกระหว่าง เงินแข็ง กับ เงินอ่อน เพิ่มเติมด้านล่าง

เงินแข็งค่า คืออะไร?

เงินแข็ง คือ การที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่ง (เงินสกุล A) มีค่ามากขึ้นจากเดิม เมื่อนำไปเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง (เงินสกุล B) ตัวอย่างเช่น เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD)

  • จากเดิมเงินจำนวน 35 บาท มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปัจจุบันเงินจำนวน 34 บาท มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จากตัวอย่างถ้าเทียบเงินดอลลาร์เป็นสินค้าจะเห็นว่าเงินบาทมีค่ามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ต้องใช้ถึง 35 บาทเพื่อแลกกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันใช้เพียงแค่ 34 บาท ก็แลกได้แล้ว

ในทางกลับกันถ้าหากว่ามองในมุมดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าน้อยลง (แลกเงินบาทได้น้อยลง) หรือก็คือเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทนั่นเอง

เงินอ่อนค่า คืออะไร?

เงินอ่อน คือ การที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่ง (เงินสกุล A) มีค่าน้อยลงจากเดิมเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง (เงินสกุล B) ตัวอย่างเช่น เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

  • จากเดิม 34 บาท มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปัจจุบัน 35 บาท มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จากตัวอย่างจะเห็นว่า เงินบาทมีค่าลดลง เพราะก่อนหน้านี้ใช้แค่ 34 บาทก็สามารถแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐได้แล้ว แต่ปัจจุบันต้องใช้ถึง 35 บาทจึงจะสามารถแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐได้

ในทางกลับกันถ้าหากว่าเรามองในมุมดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่ามากขึ้น (แลกเงินบาทได้มากขึ้น) หรือก็คือเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท

สาเหตุของเงินแข็ง/เงินอ่อน

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินแข็ง เงินอ่อน มาจากปริมาณความต้องการและปริมาณเงินของเงินสกุลนั้น (Demand และ Supply ของเงิน) เหมือนอย่างที่ได้อธิบายในตอนต้นว่าให้คิดว่าเงินเป็นเหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องเอาเงินอีกสกุลไปแลก แต่อย่างไรก็ตามเงินแข็งค่าอ่อนค่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเงินสกุลนั้นใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว หรือแบบลอยตัวภายใต้การแทรกแซงที่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณความต้องการของตลาด

  • เงินแข็ง เกิดจาก ความต้องการเงินสกุลนั้นๆ (Demand) > จำนวนเงินสกุลนั้นๆ (Supply)
  • เงินอ่อน เกิดจาก ความต้องการเงินสกุลนั้นๆ (Demand) < จำนวนเงินสกุลนั้นๆ (Supply)

ดังนั้นคำตอบของคำถามว่าอะไรคือสาเหตุของเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า ก็คืออะไรที่ทำให้คนมีความต้องการหรือไม่ต้องการเงินสกุลนั้น จนทำให้เงินสกุลนั้นแพงขึ้น (แข็งค่า) หรือถูกลง (อ่อนค่า)

เงินแข็งค่า มีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เงินแข็ง คือ อะไรก็ตามทำให้เกิดความต้องการ (Demand) เงินสกุลนั้น ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ๆ ซึ่งได้แก่

การที่ประเทศเกิดการเกินดุลการค้ามาก ๆ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) เพราะการที่ส่งออกก็คือการที่ต่างชาติซื้อสินค้าของเรา เงินที่ได้มาก็จะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้เราที่เป็นผู้ขายหรือผู้ส่งออกต้องแลกเงินสกุลต่างประเทศนั้นกลับเป็นเงินบาทเพื่อใช้ในประเทศไทยต่อไป

การที่ Fund Flow หรือเงินลงทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งการเข้ามาลงทุนนักลงทุนต่างชาติจะถือเงินประเทศของเขาเข้ามาเพื่อแลกเป็นเป็นเงินบาท (จุดนี้ทำให้เงินบาทเป็นที่ต้องการ) จึงจะสามารถเข้าซื้อหลักทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อลงทุนได้

ใช้เก็บเป็นสินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven) เพราะมีความเชื่อมั่นในเงินสกุลนั้น ถ้าหากว่านักลงทุนต่างเชื่อมั่นว่าประเทศนั้นหรือสกุลเงินนั้นมีความเสี่ยงต่ำที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นักลงทุนเหล่านั้นก็จะพากันแลกเงินของประเทศนั้นเก็บเอาไว้เพื่อรักษากำลังซื้อของตนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา

การแทรกแซงค่าเงินธนาคารกลาง หรือในกรณีของไทยก็คือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

เงินอ่อนค่า มีสาเหตุจากอะไร?

ในทางตรงกันข้าม สาเหตุที่ทำให้เงินอ่อน คือ อะไรก็ตามที่ทำให้คนไม่ต้องการเงินสกุลนั้นหรือทำให้ผู้ที่ถือเงินสกุลนั้นต้องการแลกเงินสกุลนั้นไปเป็นเงินสกุลอื่น ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ๆ เช่นกันซึ่งได้แก่

ขาดดุลการค้ามาก ๆ (นำเข้ามากกว่าส่งออก) เพราะการซื้อของจากต่างประเทศหมายความว่าจะต้องแลกจากเงินบาทเป็นเงินต่างประเทศ ซึ่งการขาดดุลคือการที่การส่งออกน้อยกว่านำเข้า นั่นหมายความว่าการแลกเงินบาทไปเป็นเงินต่างประเทศจะมากกว่าการแลกเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท

Fund Flow ของนักลงทุนต่างไหลออกจากประเทศ การที่นักลงทุนต่างชาติจะเลิกลงทุนในไทย นักลงทุนเหล่านั้นก็จะแลกเงินลงทุนที่เคยลงทุนในไทย (ซึ่งเป็นเงินบาท) กลับไปเป็นเงินสกุลที่นักลงทุนเหล่านั้นต้องการ

ความเชื่อมั่นต่อประเทศนั้น ถ้าหากผู้คนขาดความเชื่อมั่นในประเทศนั้น ๆ ก็ไม่มีใครเชื่อมั่นในเงินของประเทศนั้นเช่นกัน คนเหล่านั้นก็จะแลกเงินประเทศนั้นทิ้งเพื่อไปถือเงินสกุลอื่น

การแทรกแซงค่าเงินจากธนาคารกลาง (Central Bank) ในกรณีของประเทศไทยธนาคารกลางของไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand)

ใครได้รับผลกระทบจาก เงินแข็ง และ เงินอ่อน

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินแข็ง คือ ใครก็ตามที่ต้องเปลี่ยนเงินสกุลของตน (ที่กำลังแข็งค่า) เป็นเงินอีกสกุล เช่น ผู้นำเข้า (Importer) และในทางกลับกันผู้ที่ได้รับผลเสียจากการที่เงินแข็งค่าก็คือผู้ที่ต้องการแลกเงินสกุลอื่นมาเป็นเงินสกุลของตน (ที่กำลังแข็งค่า) นอกจากนี้การที่เงินแข็งยังส่งผลกระทบกับผู้ส่งออก (Exporter) เพราะสินค้าที่ส่งออกไปจะถูกมองว่าแพงขึ้นในสายตาต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น บริษัท GreedisGoods จากประเทศไทยต้องการซื้อวัตถุดิบจากสหรัฐอเมริการาคา $1000

ถ้าหากก่อนหน้านี้ $1 = ฿35 การจะซื้อวัตถุดิบที่ว่าก็จะต้องใช้เงิน 35,000 บาท แต่ถ้าปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าเป็น $1 = ฿ 34 การสั่งซื้อวัตถุดิบที่ว่าก็จะใช้เงินเพียงแค่ 34,000 บาท (ถูกลง 1,000 บาทโดยที่สินค้าราคาเท่าเดิม)

ผู้ที่ได้รับผลดีจากเงินอ่อน คือ ผู้ส่งออก (Exporter) หรือใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนค่าเงินต่างประเทศกลับมาเป็นเงินสกุลที่กำลังอ่อนค่า และในทางกลับกันผู้ที่ได้รับผลเสียจากการที่เงินอ่อนค่าคือผู้นำเข้า (Importer) ที่ต้องนำเข้าสินค้าด้วยราคาที่แพงขึ้น

ตัวอย่างเช่น บริษัท GreedisGoods จากไทยส่งออกสินค้า C ไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งสินค้าราคา 35,000 บาท

ถ้าก่อนหน้า $1 = ฿34 ใช้เงิน $10,000 ซื้อสินค้าจะขาดเงินอีก 1,000 บาท แต่ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น $1 = ฿ 35 นั่นหมายความต่างชาติใช้เงิน $10,000 ซื้อสินค้าเพียงชิ้นได้พอดี ส่งผลให้ในสายตาผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศมองว่าสินค้าไทยมีราคาถูกลง (ทั้งที่ราคาเท่าเดิม

สำหรับการแปลงค่าเงินหรือดูอัตราแลกเปลี่ยนสามารถดูได้จากเว็บไซต์สำหรับเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน เช่น XECurrency, Bloomberg

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด